คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ที่มาภาพ: www.ect.go.th/th/?page_id=8583
วันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยผู้มีสิทธิออกเสียงทุกคน จะต้องไปเตรียมตัวไปออกเสียงใน 2 ประเด็นคำถาม คือ
- จะให้ความ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งยกร่างขึ้นมาโดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน “ทั้งฉบับ” หรือไม่
- จะให้ความ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” กับประเด็นเพิ่มเติม (คำถามพ่วง) ที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีใจความโดยสรุปว่า จะให้ ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการสรรหาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมด มีส่วนในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี กับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงระยะเวลา 5 ปี หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้มีผลบังคับใช้หรือไม่
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ใครจะมีสิทธิร่วมออกเสียงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตประเทศครั้งนี้บ้าง
ควรรู้ไว้ว่า การออกเสียงประชามติครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของไทย ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) เป็นหลัก
โดยคุณสมบัติและคุณสมบัติต้องห้าม ของ “ผู้มีสิทธิออกเสียง” จะมีอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ ดังนี้
ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ ที่มี 2 คำถามให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกากบาทเลือกคำตอบ ที่มาภาพ: www.ect.go.th/th/?page_id=8583
- มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับถึงวันออกเสียง)
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันออกเสียง
- ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- ไม่ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ไม่วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
เป็นคุณสมบัติทั่วๆ ไป คล้ายกับการเข้าคูหาหย่อนบัตรครั้งก่อนๆ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปจากการใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.เลือกตั้ง) ทั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ เมื่อปี 2550 และปี 2554 และการเลือกตั้ง ส.ว. ทั่วประเทศ เมื่อปี 2551 และปี 2557
นั่นคือ จะไม่มีการ “ออกเสียงล่วงหน้า” หรือ “ออกเสียงนอกราชอาณาจักร”
มีเพียงการ “ออกเสียงนอกเขตจังหวัด” ซึ่งต้องมายื่นขอลงทะเบียนทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ election.dopa.go.th และผ่านทางไปรษณีย์ ที่หมดเขตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2559 แต่ยังเหลือวิธีการไปยื่นขอลงทะเบียนด้วยตัวเองที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งสามารถทำได้จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2559
โดยการออกเสียงประชามติจะมีขึ้นพร้อมกันวันเดียว คือวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ระหว่างเวลา 08.00–16.00 น. เท่านั้น
“ทุกเสียงมีความหมาย” แต่บางคนอาจไม่มีสิทธิได้ออกเสียง
ทั้งๆ ที่ กรธ. ของนายมีชัย ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้การเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเพียงใบเดียวไปคิดคำนวณทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตและ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่าจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เพราะจะทำให้ ส.ส.กระจายไปตามพรรคต่างๆ จนได้รัฐบาลผสมหลายพรรค คล้ายกับรัฐบาลในอดีตที่ไม่มีเสถียรภาพ ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อให้ “ทุกเสียงมีความหมาย”
แต่การที่ไม่กำหนดให้มีการ “ออกเสียงล่วงหน้า” หรือ “ออกเสียงนอกราชอาณาจักร” ไว้ใน พ.ร.บ.ประชามติ จะทำให้บางเสียง “ไร้ความหมาย” แน่ๆ เพราะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันดังกล่าวได้ หรือไม่มีแม้แต่สิทธิในการออกเสียง (เว้นแต่จะบินกลับประเทศไทย)
โดยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศครั้งหลังสุด ในปี 2554 มีการยื่นลงทะเบียนขอออกเสียงล่วงหน้า ถึง 2.81 ล้านคน และขอออกเสียงนอกราชอาณาจักร 1.47 แสนคน
คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศบางคน เมื่อทราบว่าจะไม่สามารถออกเสียงนอกราชอาณาจักรได้ ก็พยายามเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ได้มีสิทธิในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ครั้งนี้ ทั้งผ่านการติดแฮชแท็ก #AllThaiVote รวมถึงสร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org “We want to VOTE”แม้จะรู้ว่ายากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้
เข้าชม : 733
|